วิธีเลือกเก้าอี้ทำงาน เพื่อสุขภาพ ลดอาการปวดหลัง
Create 2021-01-15 | 02:47:34
ปัจจุบันมีเก้าอี้นั่งทำงานหลายรุ่นมากทีเดียว แน่นอนว่าบางดีไซน์อาจจะดูสวยงามเหมาะกับบ้านของเรา แต่ทว่าก็อาจจะไม่เหมาะกับการนั่งทำงานเสมอไป วันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอนำวิธีเลือกเก้าอี้นั่งทำงานมาฝากกัน ไว้เป็นทริกสำหรับตัดสินใจก่อนซื้อ - เบาะนั่ง
ก่อนซื้อควรลองนั่งดูก่อน โดยเลือกเบาะที่มีขนาดพอดี นั่งแล้วไม่รู้สึกคับแคบหรืออึดอัด แต่ก็ไม่ควรเลือกเบาะขนาดใหญ่เกินไป และเวลานั่งหลังต้องชิดพอดีกับพนักพิงเบาะ เพราะการพิงไม่ถึงและเอนตัวไปด้านหลังจะทำให้หลังงอ ส่วนความลึกของเบาะต้องไม่มากกว่าช่วงต้นขาเพื่อให้นั่งทำงานได้สบาย เบาะต้องไม่นุ่มหรือเป็นแอ่ง เพราะส่งผลให้กระดูกเชิงกรานบิดงอ
- ที่วางแขน
ที่วางแขนจะช่วยรองรับแขนระหว่างการใช้งานคอมพิวเตอร์ ช่วยให้เราดันตัวระหว่างนั่งให้ยืดตรงและช่วยค้ำพยุงตัวเวลาลุกไปไหนมาไหนได้ ถ้าหากสามารถปรับที่วางแขนให้สูง-ต่ำได้ด้วยยิ่งดี เพื่อให้ข้อศอกงอในมุมที่เหมาะและสามารถวางแขนบนโต๊ะทำงานได้อย่างสบาย หรือทั้งเลื่อนขึ้น-ลงและกางออกสำหรับคนตัวใหญ่ โดยที่วางแขนควรมีความกว้างอย่างน้อย 2 นิ้ว แต่สำหรับคนที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานคอมพิวเตอร์อาจไม่ต้องมีที่เท้าแขน หรือมีเท้าแขนแบบไม่มีที่ปรับระดับก็ได้ ที่สำคัญหากเลือกซื้อเก้าอี้ทำงานที่มีที่เท้าแขนหลังจากซื้อโต๊ะทำงานแล้ว ควรวัดขนาดโต๊ะทำงานไปก่อนเพื่อให้สอดเก็บใต้โต๊ะได้ด้วยเพื่อความเป็นระเบียบ
- พนักพิง
การมีพนักพิงหลังสามารถทำให้เรานั่งทำงานได้อย่างยาวนาน ไม่เมื่อยหลัง ไม่เกร็งหลัง หลังไม่งอ ทั้งนี้ พนักพิงหลังที่ดีควรมีลักษณะเอนไปด้านหลังเพียงเล็กน้อย ประมาณ 110-130 องศา และควรมีความสูงเพียงระดับไหล่หรือต่ำกว่าเล็กน้อย หากพนักพิงไม่พอดีกับสรีระสามารถใช้หมอนหนุนเพื่อให้ได้ความหนาตามต้องการ
- ความสูงของเก้าอี้ที่เหมาะสม
การเลือกเก้าอี้นั่งทำงานที่ดีควรเลือกแบบมีโช้คสามารถปรับระดับความสูง-ต่ำได้เพื่อให้เหมาะสมกับสรีระ หากความสูงของเก้าอี้ทำงานมีความต่ำหรือสูงไปจะทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดสะโพกได้ โดยวิธีเช็กความสูงของระดับเก้าอี้ว่าพอเหมาะหรือไม่ให้สังเกตเวลานั่งควรให้เท้าวางแนบกับพื้นพอดี ต้นขาขนานกับพื้น ทั้งนี้ หากมีเหตุสุดวิสัยโดยปรับความสูงให้พอเหมาะกับโต๊ะทำงานแล้วแต่เท้าก็ลอยเหนือพื้น วิธีแก้คือหาที่วางพักเท้าช่วยรับน้ำหนัก เพื่อให้ช่วงเข่าและขาผ่อนคลาย ไม่ปวดเมื่อย
- วัสดุ
วัสดุภายในที่ทำเบาะรองนั่งส่วนใหญ่จะใช้ฟองน้ำหรือโฟมหลากแบบ ทั้งนี้ ควรเลือกโฟมที่มีความหนาแน่นสูง เพราะจะมีความแข็ง ไม่ยุบตัวหรือเปื่อยยุ่ยง่าย หรือเรียกว่า Memory Foam ที่นิยมใช้ทำเตียงราคาสูง ความพิเศษคือสามารถรับน้ำหนักตัวและป้องกันการกดทับของเส้นเลือดที่ขาจากการนั่งนาน ๆ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีอยู่เสมอ สำหรับวัสดุห่อหุ้มภายนอกหลัก ๆ มีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ ผ้า หนังเทียม หนังแท้ และตาข่าย (แบบไม่ต้องหุ้ม) คุณสมบัติวัสดุหุ้มแต่ละชนิดมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกัน โดยหนังแท้มีความสวยงามและทนกว่าหนังเทียม และทั้งหนังแท้และหนังเทียมทำความสะอาดและดูแลรักษาง่ายกว่าผ้า แต่ผ้าระบายอากาศได้ดีกว่า และยังเล่นลายและมีสีให้เลือกเยอะกว่า ส่วนตาข่ายจะเน้นดีไซน์ที่ทันสมัย และยังระบายอากาศได้ดี
- ลักษณะการนั่งที่ดี
ศีรษะต้องตั้งตรง ไม่ยื่นไปข้างหน้าหรือเงยไปด้านหลังมากเกินไป โดยระยะสายตาถึงหน้าจอคอมพ์ ประมาณ 40-75 เซนติเมตร จุดกึ่งกลางของจอคอมพิวเตอร์ควรต่ำจากระดับสายตาลงมา 15 เซนติเมตร เก้าอี้สูง 38-55 เซนติเมตร หัวไหล่ต้องไม่ยกขึ้น ที่วางแขนต้องพอดีกับโต๊ะ หลังตั้งตรงหรือพิงพนักเล็กน้อย ข้อมือและแขนอยู่ระนาบเดียวกับแป้นพิมพ์และเมาส์ นั่งให้เต็มก้น เข่ากับสะโพกตั้งฉากกัน 90 องศา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.kapook.com